หน้าแรก -> ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร


นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

พระอานนทเถรพุทธอุปัฎฐาก ได้กล่าวแสดงต่อคณะสงฆ์ ในการทําสังคายนา ครั้งที่ ๑ ว่าดังนี้.-

ข้าพเจ้าได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า ในสมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับยับยั้งอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสีฯ

ในกาลครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเตือนสติเหล่าภิกษุปัญจวัคคีย์ให้ตั้งใจฟังและพิจารณาตามพระดํารัสของพระองค์อย่างนี้ว่าฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตไม่ควรปฏิบัติให้หนักไปในส่วนที่สุด ๒ อย่าง คือ

การประพฤติปฏิบัติตนเพื่อแสวงหาความสุขอยู่ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่ารักน่าปรารถนา ซึ่งเป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุให้ต้องมีบ้านเรือน เป็นธรรมของคนผู้ครองเรือนผู้หนาไปด้วยกิเลส ไม่ใช่ธรรมอันจะนําจิตใจออกจากกิเลส ไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลาย นี่อย่างหนึ่ง

และอีกอย่างหนึ่ง คือการประพฤติปฏิบัติด้วยการทรมานร่างกายให้ได้รับความลําบาก ซึ่งมีแต่ทำให้ใจเป็นทุกข์ทรมานอย่างเดียว ไม่เป็นทางนําจิตใจออกจากกิเลส และไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลายฯ (หรืออีกนัยหนึ่งคือ เร่งหักโหมปฏิบัติธรรมจนเกินกําลัง เพื่อหวังจะได้บรรลุมรรคผลเร็วๆ)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตได้รู้ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง โดยไม่เข้าไปใกล้ส่วนที่สุด ๒ อย่างนั้นแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง

ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลางนั้น สามารถทําดวงตาคือปัญญา ทําญาณเครื่องรู้ ให้เป็นไปเพื่อใจสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี และเพื่อทําให้กิเลสดับไปจากจิต คือเข้าสู่พระนิพพานฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง ซึ่งสามารถทําดวงตาคือปัญญา ทําญาณเครื่องรู้ ให้เป็นไปเพื่อใจสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี และเพื่อให้กิเลสดับไปจากจิต คือเข้าสู่พระนิพพานที่ตถาคตรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่งนั้น คือการปฏิบัติอย่างไร?

ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลางนี้ คือทางนําไปสู่ความไกลจากกิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลาย มี ๘ อย่างฯ ข้อปฏิบัติเหล่านี้คือ

ปัญญาอันเห็นชอบ (คือเห็นอริยสัจ)

ความดําริชอบ (คิดจะออกจากกาม ไม่คิดอาฆาตพยาบาท ไม่คิดเบียดเบียน)

วาจาชอบ (ไม่พูดโกหก ไม่พูดคําหยาบ ไม่พูดคําส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล)

การงานชอบ (เว้นจากการทุจริต เช่น โกงแรงงานเขาเป็นต้น และทําการงานที่ไม่มีโทษ)

การเลี้ยงชีวิตชอบ (หากินโดยไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ไม่ผิดประเพณี)

ความเพียรชอบ (เพียรละชั่ว ประพฤติดี เพื่อให้มีคุณธรรมประจําใจ และเพื่อให้ได้คุณธรรมสูงยิ่งๆ ขึ้นไป)

การระลึกชอบ (ระลึกนึกถึงอนุสสติ ๑๐ ประการ มีพระนิพพานเป็นที่สุด และระลึกในมหาสติปัฎฐาน ๔)

การตั้งจิตไว้ชอบ (การทําสมาธิให้อารมณ์ตั้งมั่นในอนุสสติ ๑๐ ประการนั้น)ฯ

(หรือกล่าวโดยย่อ มรรค ๘ ประการนี้ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางเหล่านี้แล คือข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง ซึ่งสามารถทําดวงตาคือปัญญา ทําญาณเครื่องรู้ ให้เป็นไปเพื่อใจสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี และเพื่อทําให้กิเลสดับไปจากจิต คือเข้าสู่พระนิพพาน ที่ตถาคตรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่งฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สภาวะเหล่านี้แลเป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริง คือ

ความเกิด ก็เป็นทุกข์

เมื่อความแก่เข้ามาถึง ก็เป็นทุกข์

เมื่อความตายเข้ามาถึง ก็เป็นทุกข์

เมื่อความเศร้าโศก ความร่ำไรรําพัน ความเสียใจ และความคับแค้นใจเกิดขึ้นมา ก็เป็นทุกข์

เมื่อประสบพบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ ก็เป็นทุกข์

เมื่อพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่ชอบใจ ก็เป็นทุกข์

และแม้คิดปรารถนาอยากได้สิ่งใด แต่ไม่ได้สิ่งนั้นสมปรารถนา ก็เป็นทุกข์

กล่าวโดยย่อแล้วก็คือ การหลงคิดว่าร่างกายเป็นของเราของเขานั่นแล เป็นตัวทําให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริงฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดที่มีอยู่ในใจนี้แลเป็นต้นเหตุทําให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริง

คือมีความอยากเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป และมีความกําหนัดยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่ารักน่าปรารถนา ก็เป็นเหตุทําให้ใจเกิดทุกข์

สิ่งใดที่ยังไม่มี ก็คิดอยากจะให้มีขึ้นมา อย่างนี้ก็ทําให้ใจเกิดทุกข์

และเมื่อมีทุกอย่างสมปรารถนาแล้ว ก็อยากจะให้ทุกอย่างคงทนอยู่ตลอดไป เมื่อมันจะต้องสลายหายไป ก็ร้อนใจไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น อย่างนี้ก็ยิ่งทําให้ใจเกิดทุกข์หนักขึ้นอีกฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การดับตัณหาความอยากให้หมดไปจากใจด้วยการ ละ วาง ปล่อย และไม่คิดยินดีพัวพันอยู่กับตัณหาความอยากนั้นอีกเด็ดขาด คือการดับทุกข์ให์หมดไปจากใจได้อย่างแท้จริงฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติเพื่อนํากิเลสให้หมดไปจากใจนี้ มี ๘ อย่าง คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ความดําริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ การระลึกชอบ และการตั้งจิตไว้ชอบ คือข้อปฏิบัติเพื่อนําใจให้หมดจากกิเลสและดับความทุกข์ได้อย่างแท้จริงฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วอย่างนี้ว่า “ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเศร้าโศก ความร่ำไรรําพัน ความเสียใจ และความคับแค้นใจ เป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริง”

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหล่านี้ เป็นต้น อันเป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เป็นสิ่งที่ควรกําหนดรู้ตลอดเวลา”ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหล่านี้เป็นต้น อันเป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เราได้หยั่งรู้ด้วยปัญญาโดยตลอดแล้ว”ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วอย่างนี้ว่า “ตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดที่มีอยู่ในใจนี้เป็นเหตุทําให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริง”

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “ตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดที่มีอยู่ในใจ อันเป็นเหตุทําให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เป็นสิ่งที่ต้องละให้ขาด”ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “ตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดที่มีอยู่ในใจ อันเป็นเหตุทําให้ใจเกิดทุกข์อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เราได้ละขาดไปจากใจแล้ว”ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วอย่างนี้ว่า “การดับตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดนี้ให้หมดไปจากใจ คือการดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง”

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “การดับตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุดให้หมดไปจากใจ คือการดับทุกข์ได้อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เป็นสิ่งที่ต้องทําให้แจ้งในใจตลอดเวลา”ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “การดับตัณหาคือความอยากไม่มีสิ้นสุด ให้หมดไปจากใจ คือการดับทุกข์ได้อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เราได้ทําให้แจ้งในใจอยู่ตลอดเวลาแล้ว”ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่างในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วอย่างนี้ว่า “มรรคคือทาง ๘ ประการ เป็นข้อปฏิบัติให้ทุกข์ดับไปจากใจได้อย่างแท้จริง”

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “มรรคคือทาง ๘ ประการ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ทุกข์ดับไปจากใจได้อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เป็นธรรมที่ต้องทําให้มีในใจไว้ตลอดเวลา”ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม และการกําหนดรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ตลอดถึงความรู้แจ้ง และความมีใจสว่าง ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เกิดขึ้นในปัญญาของเราแล้วว่า “มรรคคือทาง ๘ ประการ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ทุกข์ดับไปจากใจได้อย่างแท้จริงนี้นั้นแล เราได้ทําให้มีในใจไว้ตลอดเวลาแล้ว”ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจริง ๔ อย่าง อันทําให้ใจห่างไกลจากกิเลสนี้ ถ้าหากเรายังไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง โดยอาการหมุนเวียนแห่งปัญญาญาณ ครบ ๓ รอบทั้ง ๔ อย่าง รวมเป็นอาการ ๑๒ รอบ ด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์หมดจดของเราเพียงใดแล้วฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราก็ไม่กล้าประกาศยืนยันแก่มนุษยโลก ตลอดถึงเทวโลก มารโลก พรหมโลก รวมทั้งหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ให้ได้รู้พียงนั้น ว่าเราได้ตรัสรู้พร้อมยิ่งซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรูโดยชอบอันยอดเยี่ยม ซึ่งไม่มีความตรัสรู้อื่นในโลกใดๆ หรือของใครๆ จะเทียบได้ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ความจริง ๔ อย่าง อันทําให้ใจห่างไกลจากกิเลสนี้ เราได้รู้เห็นตามความเป็นจริง โดยอาการหมุนเวียนแห่งปัญญาญาณ ครบ ๓ รอบทั้ง ๔ อย่าง รวมเป็นอาการ ๑๒ รอบ ด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์หมดจดแล้วฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั้นเราจึงกล้าประกาศยืนยันแก่มนุษยโลก ตลอดถึงเทวโลก มารโลก พรหมโลก รวมทั้งหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ให้ได้รู้เฉพาะว่า เราได้ตรัสรู้พร้อมยิ่งซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรู้โดยชอบอันยอดเยี่ยม ซึ่งไม่มีความตรัสรู้อื่นในโลกใดๆ หรือของใครๆ จะเทียบได้ฯ

ก็แล ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแก่เราแล้วว่า “กิเลสเครื่องรัดรึงใจทั้งหลาย ไม่สามารถจะกําเริบขึ้นมาได้อีกแล้ว จิตของเราได้หลุดพ้นจากกิเลสโดยวิเศษแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเราแล้ว บัดนี้ไม่มีภพเป็นที่เกิดสําหรับเราอีกแล้ว”ฯ

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงความจริง ๔ อย่างอันประเสริฐ อันทําให้ใจห่างไกลจากกิเลสอย่างนี้แล้วฯ

พระภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ก็มีความเพลิดเพลินยินดีในธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแล้วนั้นฯ

ก็ในเมื่อขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกล่าวแสดงความละเอียดพิสดารแห่งความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการอยู่นั่นแล

ดวงตาคือปัญญาอันเห็นธรรม ซึ่งปราศจาก จากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแล้วแก่ท่านโกณฑัญญะผู้มีอายุอย่างนี้ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาแล้ว สิ่งนั้น ๆ ทั้งปวง ก็ต้องดับสลายไปเป็นธรรมดา”

ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงประกาศวงล้อแห่งธรรมให้เป็นไปแล้วนั่นแล

ภูมิเทวดาทั้งหลาย ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นว่า

“นั่นคือวงล้อแห่งธรรมอันยอดเยี่ยม ไม่มีอะไรเทียบได้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสี ซึ่งวงล้อแห่งธรรมอย่างนี้ อันสมณพราหมณ์ ตลอดถึงเทวดา มาร พรหม และใครๆ ในโลก ไม่สามารถให้เป็นไปได้”

เทพเจ้าเหล่าชั้นจาตุมหาราช ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าภูมิเทวดาแล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นฯ

เทพเจ้าเหล่าชั้นดาวดึงส์ ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็ส่งสียงให้บันลือลั่นขึ้นฯ

เทพเจ้าเหล่าชั้นยามา ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นฯ

เทพเจ้าเหล่าชั้นดุสิต ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นยามาแล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นฯ

เทพเจ้าเหล่าชั้นนิมมานรดี ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นดุสิตแล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นฯ

เทพเจ้าเหล่าชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นนิมมานรดีแล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นฯ

เทพเจ้าเหล่าที่เกิดในหมู่พรหม ได้ฟังเสียงของเทพเจ้าเหล่าชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว ก็ส่งเสียงให้บันลือลั่นขึ้นว่า

“นั่นคือวงล้อแห่งธรรมอันยอดเยี่ยม ไม่มีอะไรเทียบได้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ซึ่งวงล้อแห่งธรรมอย่างนี้ อันสมณพราหมณ์ ตลอดถึงเทวดา มาร พรหม และใครๆ ในโลก ไม่สามารถให้เป็นไปได้”ฯ

และโดยขณะเดียวเท่านั้น เสียงก็ดังขึ้นถึงพรหมโลกด้วยอาการอย่างนี้ฯ

และเสียงนี้ได้สะท้านสะเทือนหวั่นไหว ดังสนั่นไปตลอดทิศทั้ง ๔ ทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุฯ

อีกทั้งแสงสว่างอันใหญ่ยิ่งไม่มีประมาณ ได้ปรากฎแล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลายเสียหมดฯ

ในลําดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า “โกณฑัญญะผู้เจริญได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะผู้เจริญได้รู้แล้วหนอ”ฯ (อัญญาสิ - ได้รู้แล้ว)

เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานขึ้นมาอย่างนี้แล นามว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” นี้นั่นแหละ ได้มีแล้วแก่พระโกณฑัญญะผู้มีอายุด้วยประการฉะนี้ แลฯ


บอร์ดธรรมะ

สารบัญ